(ภาพจากผู้ให้สัมภาษณ์ : คณะนักวิจัยใช้แขนกลปล่อยหุ่นยนต์ขนาดเล็กของมหาวิทยาลัยเป่ยหางลงสู่ร่องลึกก้นสมุทรมาเรียนา)
ปักกิ่ง, 23 มี.ค. (ซินหัว) -- วารสารไซเอนซ์ โรโบติกส์ (Science Robotics) เปิดเผยว่าคณะนักวิจัยของจีนได้พัฒนาหุ่นยนต์ขนาดเล็กที่สามารถปฏิบัติงานภายใต้แรงกดดันสุดขั้วในร่องลึกก้นสมุทรที่มีความลึกมากที่สุดในโลก โดยสมรรถนะการปฏิบัติงานของหุ่นยนต์นี้นับเป็นความมหัศจรรย์ทางวิศวกรรมที่ก่อนหน้านี้มีแต่หุ่นยนต์ใต้น้ำขนาดใหญ่น้ำหนักหลายตันทำได้
คณะนักวิจัยนำโดยมหาวิทยาลัยเป่ยหางได้ออกแบบหุ่นยนต์ยาว 50 เซนติเมตร ด้วยแรงบันดาลใจจากรูปแบบการเคลื่อนที่ของปลาค้างคาว โดยหุ่นยนต์นี้สามารถว่ายน้ำ ดิ่งร่อน และคลานเลื้อย ขณะว่ายน้ำสามารถสร้างแรงขับผ่านครีบหางที่มีความเร็วสูงสุด 5.5 เซนติเมตรต่อวินาที และเคลื่อนที่ 3 เซนติเมตรต่อวินาทีขณะคลานเลื้อยด้วยขาบนพื้นผิวดินทราย
พานเฟย ผู้เขียนผลการศึกษาคนแรกจากมหาวิทยาลัยฯ เผยว่าคณะนักวิจัยได้สร้างอุปกรณ์กระตุ้นแบบยืดหยุ่นที่ใช้ประโยชน์จากคุณสมบัติความแข็งแกร่งของวัสดุซิลิโคลนนิ่มภายใต้แรงกดดันสูง โดยโครงสร้างวัสดุดังกล่าวแปรเปลี่ยนแรงกดดันสุดขั้วเป็นความเร็วและแอมพลิจูดสำหรับตัวกระตุ้น นับเป็นการแปลงจุดอ่อนเป็นประโยชน์
คณะนักวิจัยได้ติดสปริงอัลลอยแบบจำรูปร่างเดิมเข้ากับตัวกระตุ้นของหุ่นยนต์ ซึ่งสปริงนี้จะสั่นอย่างรวดเร็วและถี่สูงด้วยความร้อนนำพาจากกระแสน้ำซ้ำคาบในสภาวะอุณหภูมิทะเลลึก 2-4 องศาเซลเซียส
เหวินลี่ ผู้ร่วมเขียนผลการศึกษาจากมหาวิทยาลัยฯ เสริมว่าหุ่นยนต์ขนาดเล็กนี้ที่ถูกติดตั้งอยู่บนยานดำน้ำแบบมีมนุษย์ควบคุม "เซินไห่ หย่งซื่อ" และ "เฟิ่นโต้วเจ่อ" ของจีน ได้ผ่านการทดสอบในร่องลึกก้นสมุทรมาเรียนา ความลึก 10,600 เมตร และทะเลลึกแห่งอื่นๆ รวมถึงถูกเก็บกู้กลับขึ้นมาในสภาพสมบูรณ์
ทั้งนี้ คณะนักวิจัยจะเพิ่มความแข็งแกร่งทนทานและประสิทธิภาพของหุ่นยนต์ขนาดเล็กนี้ เพื่อสนับสนุนการพัฒนาทรัพยากรทางทะเล โบราณคดี และการเฝ้าติดตามสิ่งแวดล้อม